Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เหตุการณ์ในแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ. 2475













การก่อตัวเมื่อปี พ.ศ. 2475
นักศึกษาไทยที่มาศึกษาที่ฝรั่งเศส จำนวน 7 คน มีทั้งทหารและพลเรือน ได้นัดประชุมกันที่กรุงปารีส เพื่อกำหนดความมุ่งหมาย ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของไทย กติกาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนกำหนดบุคคลิกของผู้ที่จะมาร่วมคณะต่อไป และได้กำหนดหลักการไว้ 3 ประการคือ
ประการแรก ทำการเปลี่ยนการปกครองให้มีรากฐานประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ โดยงดเว้นการมีสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด
ประการที่สอง กำหนดยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติ (COUP D' ETAT) ไม่ใช่การก่อการจลาจล งดเว้นการนองเลือด การทำทารุณกรรมใด ๆ และไม่ประหัตประหารกันเอง อย่างกบฏในฝรั่งเศส
ประการที่สาม ร่วมมือกันทำการปกครองบริหารประเทศชาติด้วยความสุจริตใจ งดเว้นการแสวงหา และ สร้างสรรค์ความมั่นคงเป็นประโยชน์ส่วนตัว
ในการประชุมครั้งแรกนี้คณะผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้มีการพิจารณากำหนดลัทธิการเมืองประการใด มีความมุ่งหมายเพียงให้มีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายปลายทาง
ในการประชุม ได้กำหนดหลักการเพื่อดำเนินการยึดอำนาจไว้ 3 ประการ คือ
1. การหาความรู้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศต่าง ๆ ในทางประวัติศาสตร์ เพื่อทราบความมุ่งหมาย แผนการดำเนินการ ความสำเร็จและเหตุการณ์แห่งความล้มเหลวและเหตุผล เพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อไป
2. กำหนดคุณสมบัติของบุคคล ที่จะมาร่วมคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะต้องมีความรู้ และวุฒิที่กว้างขวาง มีรากฐานการศึกษาเพียงพอ นอกจากนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มาร่วมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ประกอบด้วยอคติ ความพยาบาท เคียดแค้น หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ประการใด และทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติโดยสุจริตใจ กับทั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติ และสภาพความเป็นอยู่ภายในครอบครัวเป็นหลักฐานที่พึงไว้วางใจได้
3. ในเรื่องการกำหนดวิธีการที่จะหาเงินมาเป็นทุนในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในระยะแรกก็อาศัยการเรี่ยไรเงินส่วนตัวกันเป็นสำคัญ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินมาก นอกจากนี้ก็วางแผนที่จะประกอบธุรกิจเพื่อหารายได้เป็นกอบเป็นกำต่อไป

การเริ่มปฏิบัติการในประเทศไทย











เมื่อคณะผู้ก่อตัวได้ทะยอยกันเดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ แล้ว ก็เริ่มดำเนินเรื่องการเมืองติดต่อกับเพื่อนร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ให้สัตย์ปฏิญาณกันมา ตั้งแต่อยู่ยุโรปต่อไป โดยติดต่อกับผู้ร่วมคิดจากปารีสและสวิทเซอร์แลนด์ รวม 15 คน ซึ่งแต่ละคนก็ได้ติดต่อกับผู้ที่รู้จัก และมีความประทับใจที่ไม่ดีในเรื่องต่าง ๆ ที่คนได้ประสบมาในรูปแบบต่าง ๆ สรุปแล้วผู้ริเริ่มฝ่ายพลเรือน 15 คน ยังไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร และดูซบเซาไป เนื่องจากห่างเหินกันไปนาน
ส่วนผู้ร่วมคิดฝ่ายทหารมีความเห็นว่า เหตุการณ์บ้านเมืองมันสุกงอมแล้ว ควรจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ และมีความพร้อมที่จะดำเนินการ เพราะได้เตรียมหาสมัครพรรคพวกกันอยู่ตลอดแม้ผู้ก่อการสายทหารบางคนจะไม่มีหัวในการเมือง แต่ก็เป็นผู้รักเพื่อนฝูงเป็นชีวิตจิตใจ เอาอะไรเอากันประกอบกับหลายคนมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญใช้เป็นกำลังได้

การวางแผนยึดอำนาจ
จากการประสานงานได้ทหารบก 34 คน ทหารเรือ 19 คน และฝ่ายพลเรือน 45 คน รวมทั้งสิ้น 98 คน ผู้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ในการร่วมประชุมครั้งแรก 7 คน ผู้ที่มาสมัครตอนหลังอีก 9 คน
เมื่อได้ทบทวนผลการดำเนินงานที่ฝ่านมา รวม 3 ปี พบว่างานคืบหน้าไปช้า และซบเซาแต่ก็ยังมีความสนใจกันอยู่เป็นส่วนมาก สำหรับฝ่ายพลเรือนที่แตกแยกเป็นหลายสาย ก็ยังไม่มีความหมายที่จะเป็นกำลังแต่อย่างใด จึงได้มีการนัดประชุมผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร รวม 5 คน มียศเป็นนายพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา 3 คน ยศนายพันโท มีบรรดาศักดิ์เป็นพระ 1 คน และยศนายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง 1 คน 4 คนแรก เรียกกันในครั้งนั้นว่าสี่ทหารเสือ ในการประชุมได้พิจารณาสถานการณ์โดยทั่วไป กับแผนการที่จะยึดอำนาจ ซึ่งกำหนดไว้ตามสถานที่และโอกาสต่าง ๆ หลายประการซึ่งมีความเห็นแตกแยกกันอยู่
loading picture







นอกจากได้ประมาณกำลังทหารบก ทางผู้ก่อการคนหนึ่งมีเพื่อนคู่คิดที่สำคัญยศนายพันโท ซึ่งอยู่ทางหน่วยที่หวังว่าจะได้กำลังด้านอาจารย์และนักเรียนนายร้อย สำหรับด้านทหารม้าและรถรบ ผู้เข้าประชุมยศนายพันตรีรับรองว่ามีความหวังมั่นคง เพราะมีนายทหารยศนายพันโทที่เคยสนิทสนมกัน ครั้งอยู่กรุงปารีสบังคับบัญชาหน่วยอยู่ ทางด้านทหารปืนใหญ่นายทหารผู้นี้ก็รับรองว่ามีเพื่อนฝูงที่ไว้วางใจได้ แต่ไม่ยอมบอกชื่อว่าเป็นใคร ทางด้านนายทหารยศนายพันโท ซึ่งคุมอยู่ทางโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ก็รับรองว่าจะได้นายทหารที่อาจารย์ และนักเรียน จากที่นี่เป็นส่วนมาก สำหรับนายทหารยศนายพันเอกผู้หนึ่ง ที่เข้าประชุม ยังรู้สึกข้องใจว่าไม่มีกำลังพอที่จะทำการใหญ่ให้สำเร็จได้จึงยังลังเลอยู่ แต่ก็รับรองว่าจะเตรียมการฝึกซ้อมการเคลื่อนไหวกำลังไว้พร้อม ถ้าหน่วยทหารม้าและรถถังนำขบวน เป็นทัพหน้าไปได้สำเร็จ ก็จะให้หน่วยทหารปืนใหญ่ซึ่งมีเพื่อนของตน ซึ่งสามารถหน่วยทหารปืนใหญ่ ติดตามแผนการให้จงได้ ส่วนผู้เข้าประชุมอีกคนหนึ่งยศนายพันเอก บอกว่าตนมีแต่ตัวคนเดียว แต่ก็จะเป็นกำลังช่วยวิ่งเต้นสั่งการในฐานะที่ดูแลเหล่าทหารปืนใหญ่อยู่
loading picture







สำหรับด้านทหารเรือ มีการติดต่อประสานงานกับนายทหารเรือยศนายนาวาตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือแต่ผู้เดียว ท่านผู้นี้เป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนนายเรือ มีสมัครพรรคพวกเป็นผู้บังคับการเรืออยู่หลายลำ รวมทั้งกองพันพาหนะเรือ ซึ่งต่อมาเรียกว่าหน่วยนาวิกโยธิน
อีกประมาณเดือนเศษต่อมา ได้มีการประชุมครั้งใหญ่ที่วัดแคลาย จังหวัดนนทบุรี มีการเช่าเรือกลไฟลำใหญ่ จัดให้เฉพาะผู้ใหญ่ฝ่ายทหารเพื่อเดินทางไปยังวัดดังกล่าว ส่วนพวกพลเรือนต่างคนต่างไป โดยถือโอกาสไปทำการยิงนก ส่วนทางทหารเรือได้ไปเรือส่วนตัว
และขึ้นไปทำความรู้จักกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แล้วแยกกลับ

ความขัดแย้งในหลักการ
ในเรื่องการปรับปรุงกองทัพ มีความเห็นไม่ตรงกันคือ ฝ่ายหนึ่งจะให้ยุบกองทัพ กองพล โดยให้หน่วยทหารต่าง ๆ ไปขึ้นกับผู้บังคับเหล่า เลิกยศนายพล และเลิกโรงเรียนเสนาธิการ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรจะละเว้นการใด ๆ ที่จะทำให้กระทบกระเทือนจิตใจนายทหารในกองทัพ การปรับปรุงจะต้องดำเนินการไปเป็นขั้น ๆ วางรากฐานการปกครองกองทัพให้มั่นคงเป็นสำคัญ ฝ่ายแรกซึ่งมีอาวุโสกว่าไม่พอใจ เห็นว่าฝ่ายหลังที่อ่อนอาวุโสกว่า ควรจะฟังแนวทางของตนเป็นหลัก เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ตัดบทว่าให้ยุติกันเพียงนี้ก่อน แล้วเลิกลากันไป ฝ่ายอ่อนอาวุโสกว่ามีความหนักใจว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองท่าจะไปไม่สำเร็จ ถ้าพลาดพลั้งไปก็ต้องเข้าคุกเข้าตาราง และโทษถึงประหารชีวิต ถ้าทำตามความคิดในการปรับปรุงกองทัพตามแนวทางของนายทหารอาวุโสก็จะเกิดความวุ่นวาย เพราะฉะนั้นเมื่อทำการปฏิวัติไม่สำเร็จก็ตาย ถ้าปฏิวัติสำเร็จก็จะเกิดความขัดแย้งต้องฆ่ากันอีก จึงเห็นว่าน่าจะยับยั้งการร่วมคิดกับผู้ที่มีแนวทางดังกล่าว ในเรื่องนี้ฝ่ายที่เป็นผู้ประสานงานเห็นว่า ได้มีการดำเนินการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นเวลานาน หากไม่ได้นายทหารอาวุโสผู้มีความเห็นตามแนวทางดังกล่าวก็จะสำเร็จได้ยาก เพราะจะได้กำลังจากท่านผู้นี้ทางด้านโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนเสนาธิการเป็นสำคัญ จึงได้มีการหาทางประนีประนอมกันต่อไป
ได้เกิดเหตุการณ์ที่เอื้อประโยชน์แก่คณะผู้ก่อการ ฯ เป็นอย่างมาก คือ นายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช ฯ ที่ลาออกจากราชการทหารไป เพราะขัดแย้งกับจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ทรงให้ล้างคำสั่งเลื่อนยศเงินเดือนนายทหารในกองทัพบกเป็นจำนวนมาก พระองค์เจ้าบวรเดช ฯ จึงวางแผนการที่จะปรับปรุงการบริหารให้มีรัฐธรรมนูญขึ้น เป็นแนวคิดที่จะทำฎีกาขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระมหากรุณาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ให้พระราชทานรัฐธรรนูญ และในการนี้จอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ ได้กราบบังคมทูลทัดทานไว้เรื่องก็จึงสงบเงียบไป

การปรับความเข้าใจ
เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ เงียบสงบลงไป ฝ่ายผู้ก่อการที่มีความเห็นไปตรงไปตรงกันในเรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างและการจัดหน่วยทหารก็ได้มีการปรับแนวความคิดด้วยการลดหย่อนผ่อนเข้าหากัน คือแทนที่จะให้ยุบเลิกหน่วยบางระดับหน่วย และยุบเลิกยศนายพลเสียทั้งหมดก็เปลี่ยนเป็นยุบเลิกแต่กองทัพ คงหน่วยกองพลไว้ ส่วนนายพลก็จะลดจำนวนลงเหลือเพียง 5 คน ส่วนการปรับปรุงโดยทั่วไป ก็จะได้ปรึกษากันด้วยดีต่อไป เป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตามในการประชุมพบปะเพื่อปรับความเข้าใจดังกล่าว ปรากฎว่าทางตำรวจกองพิเศษ ได้เริ่มระแคะระคายและเฝ้าตรวจดูอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ครั้นแล้ววันหนึ่ง ผู้บัญชาการตำรวจกองปราบยศนายพันตำรวจเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาได้ปลอมตัวเป็นชาวนา สะกดรอยผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน 2 คน จนได้ทราบเรื่องการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นที่แน่ชัด ในที่สุดในต้นเดือนมิถุนายน นายพลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประเทศกับผู้บังคับการตำรวจกองปราบ ได้ประมวลเรื่องของผู้ก่อการ ฯ ว่ากำลังคิดการใหญ่ และจะลงมือยึดอำนาจอย่างแน่นอน จึงได้ทำหมายจับผู้ก่อการ 5 คน เป็นนายทหาร 4 คน และพลเรือน 1 คน ไปกราบทูลจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ลงพระนามในหมายเพื่อจะทำการจับกุมต่อไป แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงเห็นชื่อผู้ก่อการ ก็ทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นเด็ก ๆ ไม่มีความหมาย บางคนพระองค์ก็ได้เคยรู้จักตั้งแต่เกิด และเมื่อเป็นนายทหารมหาดเล็กก็เคยรับใช้อยู่เสมอ ส่วนคนอื่น ๆ ก็ดูเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความหมายประการใด ดังนั้นจึงทรงยับยั้งการออกหมายจับ มอบเรื่องให้พระยามานนวราชเสรี อธิบดีกรมอัยการ และพระยาอธิกรณ์ประเทศ อธิบดีกรมตำรวจไปพิจารณากันต่อไป
เมื่อความทราบถึงผู้ก่อการที่เป็นนายทหารชั้นอาวุโสสูง จึงได้มีการเรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาปรึกษาวางแผนการ และกำหนดวันลงมือ

การปฏิบัติยึดอำนาจการปกครอง
จากผลการประชุมวางแผนการ ได้ตกลงมอบหมายให้ นายทหาร 3 นาย ประกอบด้วย นายทหารยศนายพันเอก 1 นาย ยศ นายพันตรี 1 นาย และยศ นายนาวาตรี 1 นาย เป็นคณะบัญชาการโดยเด็ดขาด
คณะผู้ก่อการ ฯ ได้ถือโอกาสอันเหมาะแก่การทำการ ในขณะที่เศรษฐกิจ การเงิน การค้าของประเทศไทยกำลังทรุดโทรม ประชาชนเดือดร้อนในเรื่องการครองชีพ งบประมาณแผ่นดินก็ขาดแคลน ต้องดุลข้าราชการเป็นการใหญ่ (คำว่าดุลยภาพในครั้งนั้น เป็นการปรับจำนวนข้าราชการให้ลดลง โดยให้ออกจากราชการก่อนเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลงให้เกิดความสมดุลย์) นับเป็นโอกาสที่จะได้อาศัยมติมหาชนเป็นกำลังส่งเสริม
สำหรับการลงมือยึดอำนาจนั้นได้ถือโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จแปรพระราชฐานไปหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองการยิงปืนใหญ่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ นายกอง ไปร่วมในการประลองอาวุธในครั้งนั้นด้วยเป็นส่วนมาก
แผนสายฟ้าแลบ
แผนการรวบรวมกำลังกรมกองทหารต่าง ๆ เข้าที่ชุมพลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ได้นั้นจัดเป็นแผนการฟ้าแลบ ทำการจู่โจมโดยกระทันหัน ไม่ให้มีเวลายับยั้งชั่งคิด ทั้งนี้โดยอาศัยกองพันรถรบกับทหารม้าเป็นทัพหน้า เคลื่อนกำลังโดยมีนายทหารยศนายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเป็นหัวแรงที่สำคัญที่สุด และมีนายทหารยศนายร้อยอีก 3 นาย ซึ่งประจำหน่วยรถรบได้เตรียมซ้อมเครื่องยนต์คิดปืนกล และเติมน้ำมันไว้พร้อม พอเป่าแตรปลุก เป่าแตรเร่งเร็ว และเป็นเหตุสำคัญ ทหารที่ถูกปลุกก็ตาลีตาลานรีบแต่งกายมาเข้าประจำแถว มีนายทหารฝ่ายเสนาธิการ จำนวนมากเท่าที่บันทึกไว้ได้มี 5 คน ยศนายร้อยเอก และมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ทุกคนเข้ามาช่วยเร่งรัดให้ ทหารรีบขึ้นรถเข้าประจำที่ ส่วนนายทหารยศนายพันเอกเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้สั่งให้เปิดคลังอาวุธ จ่ายกระสุนจริง บรรดาผู้บังคับบัญชาชั้นผู้บังคับหมวด และผู้บังคับกองร้อยต่างก็ยืนงง มองดูการปฏิบัติอันวิปริตซึ่งไม่เคยพบ แต่เมื่อเห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นครูบาอาจารย์ เข้ามาสั่งการก็ยอมจำนน พลอยสมทบเข้าประจำหน่วยในบังคับบัญชาของตนด้วยความสงบ ส่วนนายพันโทพระปฏิยุทธอริยั่น ผู้บังคับการกรม ได้มีผู้ก่อการจำนวนหนึ่งที่มีอาวุธพร้อมควบคุมตัวมิให้ลงจากบ้าน
ขบวนการปฏิบัตินำโดยกองพันรถถัง นำโดยนายทหารม้า ยศ นายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ติดตามด้วยกรมทหารปืนใหญ่ ในบังคับบัญชาของนายทหารปืนใหญ่ยศนายพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา แล้วมีกองพันทหารช่าง โดยมีนายทหารช่างยศ นายร้อยเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ปิดท้ายกำกับมา
การควบคุมกำลัง
แผนการยึดอำนาจนั้น ไม่ได้มุ่งหวังใช้กำลังทหารเป็นพลังสู้รบ แต่มุ่งหมายเพื่อลวงให้หน่วยทหารต่าง ๆ ในพระนครมาชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นการรวมกำลังกันมาควบคุมไว้ในที่จำกัด แล้วเรียกประชุมนายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยทหารนั้น ๆ มารวมกัน โดยมีคณะนายทหารผู้ร่วมคิดในการก่อการ ฯ พกอาวุธครบครันล้อมกรอบอยู่โดยไม่ทราบจำนวน และไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ครั้นเมื่อเข้ามาชุมนุมพร้อมเพรียงกันแล้ว นายทหารยศนายพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเป็นผู้อาวุโส เป็นหัวหน้านำการก่อการ ฯ โดย อ่านประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยเสียงอันดังหนักแน่นเด็ดขาด พอจบก็เปล่งเสียงไชโยดังกึกก้องสามครั้ง แล้วพาคณะนายทหารพร้อมด้วยกำลังหน่วยทหารทั้งสิ้น พังพระทวารประตูเข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นฐานทัพมีรถถังควบคุมกำกับ ตามมุมลานพระบรมรูปทรงม้าอย่างเข้มแข็ง กับมีหน่วยกองพันพาหนะของทหารเรือในบังคับบัญชา ของนายทหารเรือยศนายเรือโท ขยายแถวหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า จ่ายกระสุนจริงเตรียมพร้อม ที่จะปฏิบัติการได้ทันที นับว่าเป็นความสำเร็จในการก่อการ ฯ ในเบื้องต้น

การจับกุมบุคคลสำคัญ
ในขั้นต่อไป ได้ออกจับกุมบุคคลสำคัญที่มีอำนาจสั่งการต่อต้านเป็นหลายสาย ท่านที่มีความสำคัญที่สุดคือ จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ ที่วังบางขุนพรหม โดยจัดรถถังและรถลำเลียงที่มีกำลังทหาร กำกับไปด้วย โดยมีนายทหารยศนายพันโท ยศนายพันตรี และยศนายนาวาตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงทั้ง 3 คน เป็นกำลังสำคัญเข้ายึดวังบางขุนพรหม รถคันหน้าได้เข้ายึดสถานีตำรวจ ที่หน้าวังบางขุนพรหม ปลดอาวุธและควบคุมตัวไว้ ส่วนรถถังและรถลำเลียงอีก 1 คัน ได้มุ่งเข้าวังบางขุนพรหม โดยมีนายทหารยศนายร้อยโท มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเข้ากำกับกองรักษาการณ์ นายพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามาสกัดกั้นชักปืนพกออกจะยิง นายทหารผู้นำกำลังเข้ามา แต่ถูกนายทหารเรือยศนายนาวาตรี ที่กล่าวแล้วตบปืนกระเด็นไป แล้วเข้าควบคุมตัวไว้ จากนั้นนายทหารผู้นำกำลังเข้ามา ก็มุ่งไปที่ตำหนักท่าน้ำ ซึ่งจอมพลสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ ฯ เตรียมเสด็จออกไปทางเรือ พอดีเรือตอปิโดหาญทะเล ซึ่งผู้ก่อการ ฯ ฝ่ายทหารเรือสั่งให้มา ลอยลำคอยควบคุมอยู่สั่งทหารเรือเตรียมยิง ทำให้พระองค์ต้องยอมจำนน โดยนายทหารผู้นำกำลังเข้ามา ได้กราบทูลรับรองความปลอดภัย และเชิญเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยไม่ยอมให้เปลี่ยนฉลองพระองค์ก่อน ขบวนรถที่พาเสด็จไปได้แวะไปจับนายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร ที่บ้านริมวัดโพธิ์ แล้วจึงไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
สำหรับนายพลตรี พระยาเสนาสงคราม ( ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์ ) ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ บ้านอยู่ถนนนครชัยศรี ได้ถูกนายทหารยศนายร้อยโท มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ยิงบาดเจ็บ ไม่สามารถจะออกจากบ้านมาบัญชาการได้ โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ
ได้เชิญเสด็จ ฯ เจ้านางชั้นผู้ใหญ่ กักกันควบคุมตัวผู้บังคับการกรม และบุคคลสำคัญในวงการทหารไว้ ที่กองรักษาการณ์ในพระที่นั่งอนันต์ ฯ
การเก็บอาวุธ และยึดโทรศัพท์กลาง
loading picture
ได้สั่งให้เก็บอาวุธกระสุนตามหน่วยทหารต่าง ๆ และเข้าควบคุมคลังแสง เกือบจะมีการสู้รบกัน โดยนายพันตรี หลวงไกรชิงฤทธิ์ ( พุด วินิจฉัยกุล ) ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวาน ซึ่งได้จัดทหารหนึ่งกองร้อยขยายแถวเตรียมยิงต่อสู้ แต่เมื่อเห็นว่าหมดทางต่อสู้ จึงได้ถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งไป
การยึดสถานีโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบ ตอน 04.00 น. เพื่อทำลายการติดต่อสื่อสาร ผู้ก่อการ ฯ ฝ่ายพลเรือนจำนวน 6 คน เป็นผู้ปฏิบัติโดยมีกำลังฝ่ายทหารเรือให้ความคุ้มกัน มีการวางแผนตรวจสอบสถานที่ และเตรียมการในรายละเอียดอย่างดี ดังนั้นจึงใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็สำเร็จเรียบร้อย เมื่อทางตำรวจเข้ามาสอบถาม ทางฝ่ายทหารเรือที่นำโดยนายทหารยศนายเรือเอกมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ก็ประกาศว่า ได้เกิดกบฏขึ้นในพระนคร ทางราชการทหารเรือ ได้มีคำสั่งให้มารักษาการณ์ แล้วได้จับกุมตำรวจเอาไว้
ในด้าน อาวุธ และกระสุนนั้น มีเจ้าของร้านปืนทั้งสองพี่น้อง ได้เป็นกำลังจัดหาอาวุธให้ผู้ก่อการ ฯ ฝ่ายพลเรือนและพลพรรค

การดำเนินการฝ่ายบริหาร
loading picture ตั้งผู้รักษาการพระนคร เมื่อคณะทหารได้ทำการยึดอำนาจ โดยใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นฐานทัพ ก็ได้แต่งตั้งคณะบุคคลคณะหนึ่ง เป็นผู้รักษาพระนคร คือ
นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัครเนย์
แล้วได้ส่งโทรเลขไปกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในเรื่องการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นรากฐานในการปกครองประเทศ โดยให้นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย นำเรือรบหลวงไปเชิญเสด็จ ฯ กลับพระนคร
ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางด้านการบริหารฝ่ายพลเรือน ได้เชิญเสด็จ ฯ เสนาบดี และเจ้ากระทรวงกับปลัดกระทรวงมาประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีนายพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา เป็นประธาน ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบถึงความมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งคณะผู้ก่อการ ฯ คงตั้งมั่นในความจงรักภักดี และเทิดทูนพระมหากษัตริย์ กับจะเคารพต่อสัญญาที่รัฐบาลเดิม ได้มีข้อผูกพันกับต่างประเทศโดยครบถ้วน ขอให้เจ้ากระทรวงดำเนินการบริหารราชการประจำไปตามปกติ จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ขอให้ช่วยกันรักษาความสงบให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพปกติต่อไปด้วยดี กับได้เชิญหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมาชี้แจงให้ดูและทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากนี้ได้ทำหนังสือเวียนชี้แจงสถานการณ์ไปให้สถานทูตต่าง ๆ ทราบทั่วกัน นอกจากนี้คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ขอพระมหากรุณาให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพระนามในคำประกาศ ขอให้ข้าราชการประชาชนตั้งอยู่ด้วยความสงบ

พระวิจารณ์ของพระราชวงศ์ผู้ใหญ่
เมื่อพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ถูกเชิญเสด็จไปประทับอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระองค์ได้ตรัสถามผู้ก่อการ ฯ คนหนึ่งซึ่งพระองค์รู้จักดีว่า ที่ยึดอำนาจนี้ต้องการอะไร ประสงค์อะไร แล้วจะดีกว่าที่เป็นอยู่เดิมหรือก็ได้รับคำตอบว่า อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาเลียเม้นต์ทั่วไป ยกเว้นแต่อบิสซิเนีย พระองค์ได้ตรัสถามต่อไปว่า พวกผู้ก่อการซึ่งส่วนใหญ่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยประมาณสามสิบปีเศษเหล่านี้รู้จักคนไทยดีแล้วหรือ เพราะเขาเหล่านี้จะต้องเผชิญปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีได้ปกครองเมืองมา ๑๕๐ ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี้ปกครองกันอย่างไร คณะผู้ก่อการ ฯ จะเข็นครกขึ้นเขาไหวหรือ ก็ได้รับคำตอบว่าการดำเนินการจะให้ราบรื่นไปทีเดียวคงไม่ได้ คงต้องมีการยึดอำนาจกันต่อไปอีกหลายยุค เรื่องคอนสติติวชั่นและปาเลียเมนต์ ก็จะเริ่มต้นกันสักวันหนึ่ง
ข้อความในในปลิว ได้มีการออกใบปลิวของคณะผู้ก่อการ ฯ ซึ่งมีข้อความบางตอนที่รุนแรงอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวรรคสุดท้ายของประกาศยึดอำนาจมีความว่า
"จะได้นำประชาชนไปสู่ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐสุด ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า 'ศรีอารยะ' นั้น ก็พึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า"

การนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ
ได้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ณ วังสุโขทัย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ได้มีผู้เข้าเฝ้าเพื่อการนี้ 9 คน คือ นายพลเรือตรีพระยาศรยุทธเสนีย์ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิอัครเนย์ นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันตรีหลวงวีระโยธา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง นายสงวน ตุลารักษ์ นายร้อยโทประยูร ภมรมนตรี
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงประดิษฐ์ ฯ นำรัฐธรรมนูญขึ้นมาทูลเกล้า ฯ ถวายทรงรับสั่งถามว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง ก็ได้รับคำตอบว่ายังมิได้อ่าน เพราะมิใช่หน้าที่โดยเฉพาะ และได้กราบทูลต่อไปว่า ทางพระยาทรงสุรเดชได้ประชุมกำชับไว้มั่นคงแล้วว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงรับสั่งว่าถูกต้องแล้ว ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้นแต่เรื่องอะไรจึงต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย
พระยาทรงสุรเดชได้กราบทูลขอพระราชทานสารภาพผิด และขอพระราชทานอภัยที่มิได้อ่านมาก่อน และขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เป็นผู้นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดา ฯ และในวันเดียวกันก็ได้มีประกาศวิทยุเป็นทางการทั่วประเทศ ที่ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย
ต่อมาได้ประกาศตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น 8 คน คือ
1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2. พระยาเทพวิฑูรย์
3. พระยาศรีวิสารวาจา
4. นายพลเรือโทพระยาราชวังสัน
5. พระยาปรีดานฤเบศร์
6. พระยามานนวราชเสวี
7. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
8. นายพันตรีหลวงสินาดโยธารักษ์
การร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 2 เดือน 15 วัน เมื่อรวมเวลาตรวจเรื่องอีก 1 เดือน รวมเป็น 3 เดือนเศษ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

พระราชกำหนดนิรโทษกรรม
ในวันที่คณะผู้ก่อการ ฯ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้ถือโอกาสทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรรม นับเป็นบทบัญญัติฉบับแรก ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีข้อความดังนี้
" การกระทำของคณะราษฎรในครั้งนี้ หากจะเป็นการละเมิดกฎหมายใด ๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย
พระราชกำหนดนี้ได้ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475

สรุปการปฏิบัติในขั้นต้น
การก่อการ ฯ ครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วยการรู้จักใช้โอกาส วางแผนรัดกุม ปกปิด ฉับพลันเด็ดขาด
คณะผู้ก่อการ ฯ มีจุดหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ
คณะผู้ก่อการ ฯ มิได้ พิจารณากำหนดลัทธิเศรษฐกิจไว้แต่เริ่มแรกแต่ประการใด
คณะผู้ก่อการ ฯ ไม่ได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน และไม่ทราบเรื่องการขนานนามเสนาบดี ผู้บริหารประเทศเป็นกรรมการราษฎร แบบประเทศโซเวียตรัสเซีย
คณะผู้ก่อการ ฯ ได้เสนอให้นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้นำ ในฐานะที่เป็นผู้อาวุโส และได้จัดตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร รวม 3 คน คือ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช และนายพันเอกพระยาฤทธิอัครเนย์

สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐบาล
คณะผู้ก่อการ ฯ ได้พิจารณาด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้มีการเสนอมหาอำมาตย์โทพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายเป็นประธานคณะราษฎร ซึ่งจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ได้มีการเลือกสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง จำนวน 70 คน โดยได้แบ่งให้เป็นส่วนของผู้ก่อการ ฯ กึ่งจำนวน อีกกึ่งหนึ่งได้เลือกจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่บรรดาศักดิ์เจ้าพระยา 3 คน ชั้นพระยา 22 คน ส่วนมากเป็นผู้พิพากษา ทหารบก และทหารเรือ กองทัพละ 3 คน ที่เหลือเป็นผู้ร่วมการกบฏ ร.ศ. 130 จำนวน 4 คน นักหนังสือพิมพ์กับพ่อค้าอีกจำนวนหนึ่ง
ได้เลือกมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นประธานสภา และนายพลตรีพระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภา
การคัดเลือกผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง มีปัญหาพอสมควร เพราะคณะผู้ก่อการ ฯ มี 98 คน ได้รับเลือกเพียง 30 คน สำหรับฝ่ายทหารได้กำหนดผู้ที่จะเป็นได้ในระดับยศนายพันตรี และนายนาวาตรีขึ้นไป

ความเห็นไม่ตรงกัน
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ก่อการ ฯ บางคนมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องการปรับปรุงกองทัพ แต่ในที่สุดก็ประนีประนอมกันได้ ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ ก็เริ่มกลับไปดำเนินการตามแนวความคิดเดิมของตน โดยจะให้คงเหลือนายพลไว้ 2 นาย คือ ตำแหน่ง ปลัดทูลฉลอง (ปลัดกระทรวง)กลาโหม กับสมุหราชองครักษ์มีการตั้งกรรมการเลือกผู้บังคับบัญชา กับทั้งสั่งการโยกย้ายหน่วยทหารโดยฉับพลัน เกิดความวุ่นวายในกองทัพเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งสองฝ่ายที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็เป็นอริแก่กัน เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นพวก และได้แผ่ขยายไปสู่พวกพลเรือนด้วย

ร่างรัฐธรรมนูญ
ในการนำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีเรื่องโต้แย้งสำคัญอยู่หลายประการ กล่าวคือ
ประการแรก เกี่ยวกับบทบัญญัติที่ระบุให้เจ้านาย และบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง โดยมีเจตจำนงที่จะมิให้เจ้านายมาพัวพัน ต้องถูกโจมตีให้เสียศักดิ์ศรี จึงควรให้อยู่เหนือการเมือง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงเห็นชอบด้วย แต่มีพระราชปรารภว่าไม่ควรจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้เป็นการตัดสิทธิของเจ้านายที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง แต่จะทรงมีประกาศเป็นพระราชนิยม ที่จะมิให้เจ้านายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการเมือง
ประการต่อมาคือ การใช้คำว่า " กรรมการราษฎร " แทนคำว่าเสนาบดี ได้เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแกนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง คงยืนยันจะให้ใช้คำว่า " กรรมการราษฎร " ให้จงได้ มีผู้เสนอให้ใช้คำอื่นแทน เช่น เลขาธิการว่าการกระทรวง เหมือนอย่างสหรัฐอเมริกา บางท่านเสนอให้ใช้คำว่า " ประศาสนกามาทย์ และมีท่านหนึ่งซึ่งเป็นนายทหารบก เสนอให้ใช้คำว่า " รัฐมนตรี " และมีผู้สนับสนุน คำนี้เป็นคำโบราณที่แปลว่า ข้าราชการ ผู้มีอำนาจในแผ่นดินซึ่งใช้กันทั่วไปในอินเดีย มลายู และชวา และคำว่า รัฐมนตรีนี้ เคยมีใช้กันมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ที่เรียกว่า สภารัฐมนตรี มีข้าราชการพลเรือนอีกคนหนึ่ง มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงได้ต่อว่าผู้ที่กล่าวว่า กรรมการราษฎร เป็นคำที่ใช้อยู่เฉพาะ เป็นรัสเซียคอมมิวนิสต์ และบอกว่าเป็นเรื่องของคำ ๆ เดียว ไม่เกี่ยวกับลัทธิ ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ใช้คำว่า " รัฐมนตรี แทน " กรรมการราษฎร" ด้วยคะแนนเสียง 28 ต่อ 7 งดออกเสียง 26

พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
loading picture
ทางรัฐบาลได้กำหนดวันรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ในวันพระราชพิธีรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ ได้จัดเป็นงานมโหฬาร ข้าราชการทั้งในและนอกราชการ ตลอดจนทูตานุทูต ได้เข้าเฝ้าประจำตำแหน่งอย่างครบครัน สำหรับข้าราชการพลเรือน ได้ยกเลิกยศอำมาตย์ ดังนั้นเครื่องแบบที่เคยแต่งอย่างสง่างาม จึงเปลี่ยนมาเป็นเครื่องแบบชุดขาวติดแผงที่คอ
เมื่อได้ฤกษ์ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ก็ได้นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย ในท่ามกลางมหาสมาคม แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบรัฐธรรมนูญให้แก่พระยามโนปกรณ์ ฯ< /FONT>

งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก
งานพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ได้มีการหยุดราชการ 3 วัน และจัดให้มีงานมหรสพที่ท้องสนามหลวง และสวนลุมพินี มีการประดับโคมไฟกันทั่วไปในพระนคร ตลอดจนต่างจังหวัดด้วย
ในโอกาสนี้ได้ประพันธ์บทเพลงชาติขึ้น โดยความริเริ่มของนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นการกระตุ้นเตือนให้คนไทย สำนึกในชาติกำเนิดของตน
ในงานฉลองรัฐธรรมนูญได้มีเรื่องที่เนื่องมาจากการปกครองแบบใหม่อยู่หลายเรื่องด้วยกันคือ นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้หยุดเรียนมาชุมนุมประท้วงระเบียบการของโรงเรียน จีนลากรถรับจ้างสไตร๊คหยุดงานประท้วงนายจ้างที่เอาเปรียบ และไม่ปรับปรุงรถให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ ลูกศิษย์วัดบางแห่งถือหลักสิทธิเสมอภาคกันไม่หุงข้าวให้พระฉัน และมีเรื่องขบขันเกิดขึ้นในบางจังหวัด เมื่อมีการฉลองรัฐธรรมนูญกันมโหฬาร ก็เข้าใจว่าเป็นการสมโภชบุตรชายคนใหม่ของพระยาพหล เป็นต้น
http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/event2475/index.htm

ไม่มีความคิดเห็น: